โรคไวรัสตับอับเสบ ชนิดบี
โรคตับอักเสบ พบได้ทุกวัย ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ส่วนใหญ่ เป็นโรคตับอักเสบเฉียบพลันคือไวรัสตับอักเสบเฉียบพลันชนิดเอและอี ส่วนน้อยที่พบเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนของโรคตับแข็ง โรคตับวายและโรคมะเร็งตับได้
สำหรับสถานการณ์ของโรค ไวรัสตับอักเสบ ชนิดบี (Hepatitis B) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549-2558 (ค.ศ.2006-2015) พบผู้ป่วยด้วยโรคตับอักเสบชนิดบี มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างชัดเจน ในปี พ.ศ. 2558 มีอัตราป่วยสูงเป็นสองเท่าของปี 2549 ซึ่งมีอัตราป่วยต่ำสุด ไวรัสตับอักเสบบี ภาคเหนือเป็นภาคที่มีอัตราป่วยสูงกว่าภาคอื่นๆ ต่อเนื่องหลายปีติดต่อกัน ซึ่งไวรัสตับอักเสบชนิดบีหากติดเชื้อในช่วง 1 ปีแรก มีความเสี่ยงต่อกลายเป็นผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง ร้อยละ 90 หากติดเชื้อในช่วงอายุ 1-4 ปี จะกลายเป็นติดเชื้อเรื้อรัง ร้อยละ 30-50 และหากติดในผู้ใหญ่ จะกลายเป็นผู้ติดเชื้อเรื้อรัง ถึงร้อยละ 10
การอักเสบของเซลล์ตับ ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hbv) การอักเสบจะทำให้เซลล์ตับตาย หากเป็นเรื้อรังจะเกิดพังผืด ตับแข็งและเป็นโรคมะเร็งตับต่อไป
โรคนี้ติดต่อจากคนสู่คน โดยผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ ผ่านการรับเลือด ซึ่งปัจจุบันพบน้อยมาก เพราะด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถคัดกรองเลือดที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนได้เกือบทั้งหมด การสัก การเจาะหูจากเครื่องมือที่ไม่สะอาด การมีเพศสัมพันธ์ จากแม่สู่ลูก เป็นต้น
แหล่งข้อมูล : สรุปรายงานการเฝ้าระวังโรคประจำปี 2558 http://boe.moph.go.th/
นางฉันทพิชญา โพธิสาจันทร์ นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการพิเศษ
กลุ่มสื่อสารสุขภาพ กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข